คำถามที่ต้องการคำตอบ : ใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี อย่างไรดี???

คำถามที่ต้องการคำตอบ : ใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี อย่างไรดี???
1. จะต้องทำอย่างไรที่บ้าน
2. จะมีเพศสัมพันธ็ได้ไหม
3. จะมีบุตรได้ไหม
4. จะเป็นอย่างไรถ้าฉันฉีดยาเสพติด
5. จะเดินทางไปต่างประเทศได้ไหม
“ฉันกับสามีต่างก็มีเชื้อเอชไอวี เขาตรวจพบเชื้อก่อน แล้วฉันจึงได้ไปตรวจ เราทั้งสองคนตกใจมาก เราไม่เคยคิดว่าเราเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ตอนแรกฉันโกรธเขามาก แต่แล้วก็มาคิดว่าอาจเป็นฉันก็ได้ที่เป็นผู้แพร่เชื้อไปให้เขา เราไม่มีวันรู้ว่าใครเป็นผู้แพร่เชื้อให้ใคร และตอนนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือการที่เราใช้ชีวิตให้มีความสุขและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เราไปรับข้อมูลที่สภาโรคเอดส์ (เอดส์เคาน์ซิล, AIDS Council) แล้วพบหมอที่เราไว้วางใจ เราเรียนรู้ทุกๆวันในการใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี”
1. จะต้องทำอย่างไรที่บ้าน
คุณอาจวิตกกังวลว่าคุณสามารถแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่คนอื่นๆที่อาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะเด็กๆในบ้าน อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ตกอยู่ในความเสี่ยงของการติดเชื้อเพียงเพราะอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับคุณ
เชื้อเอชไอวีไม่ได้แพร่ไปโดยการสัมผัสระหว่างผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน การจูบ การกอด การหยอกล้อเล่นกัน การรับประทานอาหาร นอนเตียงเดียวกัน หรือใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านร่วมกัน เช่น จาน ถ้วยชากาแฟ ช้อนส้อมและมีด จะไม่แพร่กระจายเชื้อเอชไอวี
สุขภาพของคุณเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคุณมีเชื้อเอชไอวี ระบบภูมิคุ้มกันของคุณทำงานไม่ได้ดีดังก่อน และคุณเสี่ยงกับการรับเชื้ออื่นๆ จากคนที่แวดล้อมคุณ ซึ่งทำให้เกิดผลตามมาที่รุนแรงต่อสุขภาพของคุณได้
เพื่อเป็นการป้องกันการกระจายของการติดเชื้อ สิ่งที่ควรป้องกันไว้ก่อนเหล่านี้ควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวันที่บ้าน;
• ทุกๆคนในบ้านควรล้างมือหลังการใช้ห้องส้วมและก่อนการเตรียม อาหาร
• สวมุถงมือทุกครั้งเมื่อต้องทำความสะอาดเลือดและของเหลวอื่น ๆ ของร่างกาย ทำความสะอาดพื้นที่นั้นด้วยกระดาษเช็ดมือก่อน ตามด้วยการล้างด้วยน้ำสบู่ และในขั้นสุดท้าย พื้นที่นั้นควรได้รับการฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาบลีช (น้ำยาฟอกขาวที่เรียกบลีช, Bleach) โดยทำตามคำแนะนำที่ภาชนะบรรจุบอกไว้ เช็ดบริเวณนั้นให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือที่สะอาด
• ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัวและเสื้อผ้าที่เปื้อนเลือดหรือของเหลวอื่นๆของร่างกาย ควรแยกซักต่างหาก
• หลีกเลี่ยงการจูบและการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหวัดหรือเป็นไข้ และเด็กที่เป็นโรคต่างๆ เช่น อีสุกอีใส คางทูมหรือหัด
2. จะมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม
การมีเชื้อเอชไอวีไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามคุณอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการมีเพศสัมพันธ์บ้างบางอย่าง
มีหลายๆสิ่งที่ควรพิจารณาดังนี้;
คุณจำเป็นต้องปกป้องคู่นอนของคุณจากการติดเชื้อเอชไอวี ถ้าหากเขา/เธอไม่มีเชื้อเอชไอวีโดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
• การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยหมายถึง การใข้ถุงยางอนามัย (Condom) แผ่นแดม (Dam) และสารหล่อลื่นที่ใช้น้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (Water based lubricant) ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อไวรัสเอชไอวีที่อยู่ในเลือด น้ำอสุจิหรือของเหลวในช่องคลอดของคุณ ไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือดของคู่นอนของคุณ
• เพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex) มีโอกาสน้อยมากในการแพร่เชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตามหากคู่นอนของคุณมีรอยบาดหรือแผลในปาก หรือเพิ่งทำฟันมา การใช้ถุงยางอนามัยและแผ่นแดมเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
• การบำบัดรักษาเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ (เช่น ปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดของคุณมีอยู่ต่ำมากทำให้การตรวจสอบหาไวรัลโหลดไม่สามารถตรวจจับได้) ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ ปรึกษาแพทย์ของคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
• การจูบ กอด และการร่วมกันสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองและการนวดต่างๆถือเป็นการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
• ในบางรัฐหรือเขตที่คุณอาศัยอยู่ ในทางกฏหมายคุณอาจต้องแจ้งให้คู่นอนของคุณรู้ว่าคุณมีเชื้อเอชไอวี ถึงแม้ว่าคุณตั้งใจจะมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยก็ตาม สภาโรคเอดส์ในแต่ละรัฐหรือแต่ละเขตส่วนใหญ่จะสามารถแนะนำคุณเพิ่มเติมได้ ต้องการทราบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับกฏหมายและเอชไอวี โปรดติดต่อ ศูนย์กฏหมายเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์(HIV/AIDS Legal Centre www.halc.org.au)
• การบอกกับใครว่าคุณมีเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องยากและลำบากใจ ปรึกษากับแพทย์ของคุณ หรือนักสังคมสงเคราะห์ (หรือเจ้าหน้าที่แนะแนว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลสุขภาพ) สำหรับคำแนะนำ
ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ป้องกันกับคู่นอนของคุณ มีความเป็นไปได้ว่าเขา/เธอ อาจติดเชื้อเอชไอวีไปด้วย และควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
ถ้าคู่นอนของคุณมีเชื้อเอชไอวีเช่นเดียวกัน คุณอาจตกลงร่วมกันว่าจะมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ต้องป้องกัน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าการติดเชื้อเอชไอวีจากอีกสายพันธุ์หนึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ คุณควรปรึกษากับแพทย์ของคุณให้แน่ใจ แต่สุดท้ายแล้วคุณและคู่นอนของคุณจะต้องเป็นคนตัดสินใจร่วมกัน
จำไว้ว่า, การมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นระหว่างคุณและคู่นอนของคุณ, และคุณทั้งคู่มีความรับผิดชอบร่วมกันในการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
“ฉันตกอยู่ในความมืดมนเมื่อรู้ว่าฉันติดเชื้อเอชไอวี รู้สึกว่าชีวิตทั้งหมดถูกพรากไปจากฉัน แพทย์ไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไรมากนัก เธอเพียงแต่บอกฉันว่าต้องใช้ความระมัดระวัง แล้วต้องไม่แพร่เชื้อเอชไอวีไปให้คนอื่น ฉันไม่แม้แต่คิดที่จะมีเพศสัมพันธ์ เลยเป็นเวลาร่วม 2 ปี มันเหมือนกับว่าส่วนนั้นของชีวิตได้หายไปตลอดกาล แล้วฉันก็ได้พบคนพิเศษ เราใกล้ชิดกันโดยไม่รู้ตัว ฉันบอกเขาว่าฉันมีเชื้อเอชไอวีก่อนที่เราจะมีเพศสัมพันธ์กัน เขาตกใจมากแต่ก็รับฟังในสิ่งที่ฉันพูด ทุกวันนี้เรามีเพศสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย แล้วมันเป็นเพศสัมพันธ์ที่วิเศษที่สุด”
3. จะมีบุตรได้ไหม
ไม่ว่าคุณจะมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ก็ตาม คุณอาจต้องการมีบุตร, ในประเทศออสเตรเลีย ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีบุตรที่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงได้
ถ้าคุณวางแผนจะมีบุตรหรือเพิ่งทราบว่าตนแองกำลังตั้งครรภ์ โปรดปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด แพทย์จะอธิบายทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการตั้งครรค์และเอชไอวี
ภายใต้การดูแลทางการแพทย์ที่ดี คุณจะให้โอกาสที่ดีที่สุดกับตัวคุณเองในการมีบุตรที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ในประเทศออสเตรเลีย เป็นไปได้น้อยมากสำหรับมารดาที่อยู่ภายใต้การบำบัดรักษาเอชไอวี ที่จะส่งต่อเชื้อไวรัสไปสู่บุตร
มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีสามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่บุตรโดย;
• รับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี ระหว่างตั้งครรภ์
• คลอดบุตรโดยวิธีผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแทนการคลอดทางช่องคลอด
• ไม่เลี้ยงทารกด้วยนมมารดา
• ให้บุตรรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี (Anti Retroviral Treatment) หลังจากคลอดเป็นเวลาหกสัปดาห์
อาจจะมีประโยชน์กับคุณในการพูดคุยกับผู้อื่นที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้เชี่ยวชาญเอชไอวีของคุณและสภาโรคเอดส์ในแต่ละรัฐ แต่ละเขตส่วนใหญ่ น่าจะสามารถประสานงานและติดต่อคุณกับบิดามารดาอื่นๆที่ติดเชื้อเอชไอวีได้
“เราได้คุยกันเรื่องการมีลูกมาเป็นเวลานาน เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เราได้ตกลงใจร่วมกัน เมื่อทราบเป็นครั้งแรกว่าเรามีเชื้อเอชไอวีเราไม่ได้คิดเลยว่าเราสามารถมีลูกได้ ความคิดในเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แล้วเมื่อเราสอบถาม แพทย์ก็ให้การสนับสนุน เราได้คุยกับใครๆ หลายคน แล้วได้ทราบว่าคนที่มีเชื้อเอชไอวีคนอื่นๆมีลูกที่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง”
4. จะเป็นอย่างไรบ้างถ้าฉันฉีดยาเสพติด
ถ้าคุณฉีดยาเพสติดต้องมั่นใจว่าใช้อุปกรณ์ในการฉีดยาของคุณเอง หรือใช้เข็ม กระบอกฉีดยา และอุปกรณ์อื่นๆชุดใหม่อย่าใช้อุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับคนอื่น เพื่อเป็นการป้องกันคุณและคนอื่นๆจากการติดเชื้อเอชไอวี, โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี
วางแผนล่วงหน้าและแน่ใจว่าคุณมีเข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาสำรองไว้เมื่อถึงเวลาต้องการ

ในประเทศออสเตรเลีย ผู้ที่ฉีดยาเสพติด สามารถขอรับเข็ม กระบอกฉีดยา และอุปกรณ์อื่นๆ ในการฉีดยาได้ฟรี แต่ไม่ได้หมายความว่าการฉีดยาเสพติดเป็นสิ่งถูกต้องตามกฏหมาย
คุณสามารถขอรับอุปกรณ์ ในการฉีดยาได้ฟรีจากหน่วยบริการแลกเปลี่ยนเข็มและกระบอกฉีดยา ที่เรียกว่า นิดเดิ้ลแอนด์ ซีรินจ์ โปรแกรม(NSP-Needle and Syringe Program) และร้านขายยาบางแห่ง หน่วยบริการแลกเปลี่ยนเข็มและกระบอกฉีดยา (NSP-Needle and Syringe Program) คือหน่วยบริการสำหรับผู้ที่ใช้ยาเสพติด และยังให้บริการข้อมูลและช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติด
เครื่องจำหน่ายเข็มฉีดยาสามารถพบเห็นได้หลายแห่งและเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ต้องการทราบข้อมูลของหน่วยบริการแลกเปลี่ยนเข็มและกระบอกฉีดยา และเครื่องจำหน่ายเข็มฉีดยาใกล้บ้านในรัฐนิวเซาท์เวลลส์ โทรหน่วยบริการแอลกอฮอล์แอนด์ดรัคเซอร์วิส (ADIS -Alcohol and Drug Information Service) ที่ 1-800-422-599 ได้ทุกเวลา
เมื่อคุณฉีดยาเสพติด ใช้สำลีเช็ดแผลเพื่อห้ามเลือดและล้างมือของคุณให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้
อย่าห้ามเลือดโดยการใช้นิ้วมือหรือหัวแม่มือของคุณ
ทิ้งอุปกรณ์ในการฉีดยาให้ปลอดภัยทุกครั้ง สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการทิ้งอุปกรณ์ในการฉีดยาคือหน่วยบริการแลกเปลี่ยนเข็มและกระบอกฉีดยา ที่เรียกว่า นิดเดิ้ลแอนด์ ซีรินจ์ โปรแกรม(NSP-Needle and Syringe Program) ในกล่องทิ้งเข็มฉีดยาสีเหลืองที่เรียกว่า เยลโล่ ชาร์ฟ ดิสโพโซ่ล คอนเทนเนอร์ หรือฟิต บิน (yellow sharps disposal container (fit bin)) ร้านขายยาบางแห่งและโรงพยาบาลหลักๆ มีที่รับทิ้งอุปกรณ์ฉีดยาที่ใช้แล้ว นอกจากนี้คุณยังสามารถพบเห็นกล่องทิ้งเข็มฉีดยาได้ในห้องน้ำสาธารณะบางแห่งอีกด้วย
ถ้าหากคุณไม่สามารถเดินทางไปที่หน่วยบริการแลกเปลี่ยนเข็มและกระบอกฉีดยา ที่เรียกว่า นิดเดิ้ลแอนด์ ซีรินจ์ โปรแกรม(NSP-Needle and Syringe Program) หรือ กล่องทิ้งเข็มฉีดยาสาธารณะ (ฟิต บิน) ได้ ให้ทิ้งเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วในขวดที่มีฝาเกลียว (เช่น ขวดน้ำดื่ม) หมุนฝาปิดให้สนิทก่อนนำไปทิ้งในถังขยะ
เป็นความคิดที่ดีที่คุณควรบอกกับแพทย์ของคุณว่าคุณใช้ยาเสพติดอยู่ เนื่องจากยาเสพติดสามารถมีผลกระทบกับสุขภาพและการบำบัดรักษาเอชไอวีของคุณ แพทย์ของคุณยังสามารถที่จะแนะนำคุณไปยังหน่วยงานที่เชี่ยวชาญสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดได้ด้วย
5. จะเดินทางไปต่างประเทศได้ไหม
ได้, แต่มีหลายสิ่งที่คุณควรพิจารณาในการเดินทาง เพราะว่าร่างกายของคุณอาจจะติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่า ในขณะที่คุณไม่เคยติดเชื้อโรคเหล่านั้นในออสเตรเลีย การป้องกันไว้ก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะถ้าคุณป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
• บอกแพทย์ให้ทราบถึงแผนการเดินทางของคุณ แพทย์ของคุณสามารถช่วยในเรื่องความจำเป็นด้านการใช้ยา หรือกรณีฉุกเฉินที่ท่านอาจต้องประสบ
• ติดต่อสภาโรคเอดส์ในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับบริการต่างๆ ที่คุณอาจจำเป็นต้องรู้ในประเทศที่คุณวางแผนจะเดินทางไป
• ถ้าคุณกำลังรับการรักษาหรือได้รับยาอย่างใดอย่างหนื่งอยู่ ต้องแน่ใจว่าคุณมียาเพียงพอสำหรับใช้ตลอดระยะเวลาที่เดินทาง ในบางประเทศยังไม่มียาสำหรับการรักษาเชื้อไอวี หรือถ้ามีก็แพงมาก ควรหาข้อมูลสำหรับขั้นตอนต่าง ๆในประเทศเหล่านั้น ถ้ายาของท่านเกิดเสียหายหรือสูญหาย
• ปรึกษาแพทย์ถึงเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนบางอย่างไม่ควรใช้กับผู้มีเชื้อเอชไอวี เช่นวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง (เยลโลว์ ฟีเวอร์, yellow fewer) ในขณะที่วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอและโรคตับอักเสบบี แนะนำให้ฉีด
• โปรดจำไว้เสมอว่าอาหารและเครื่องดื่มในบางประเทศอาจไม่มีความสะอาดและปลอดภัยเหมือนในประเทศออสเตรเลีย และอาจก่อให้เกิดอาการท้องร่วงและโรคอื่น ๆ
• ต้องมั่นใจว่าประเทศที่ท่านกำลังจะเดินทางไป ไม่มีกฎห้ามผู้มีเชื้อเอชไอวีหรือผู้นำยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าประเทศ
• บรรจุถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นไว้ในการะเป๋าเดินทางด้วย บางประเทศอาจไม่มีสินค้าเหล่านี้ หรือถ้ามีก็เป็นชนิดที่ด้อยคุณภาพ
ที่มา : hivrestrictions

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกันที่สมดุล Operation BIM

สาระน่ารู้ สูตรสารธรรมชาติหรือ "Balancing Immunity -BIM "

ระบบภูมิคุ้มกัน หรือ Immune system